ปี 65 ข้าวไทยส่งออกอันดับ 2 โลก 7.69 ล้านตัน

ปี 65 ข้าวไทยส่งออกอันดับ 2 โลก 7.69 ล้านตัน คนแย่งซื้อมันสำปะหลังขายสูงสุด 15 ปี

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 65 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 7.69 ล้านตัน สูงกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 138,451 ล้านบาท หรือ 3,971 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 22.06% จากปี 64 ที่ส่งออกได้ 6.30 ล้านตัน มูลค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น 26.13% และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14.67% จากปี 64 ที่มีมูลค่า 109,769.7 ล้านบาท หรือ 3,463.4 ล้านเหรียญฯ ทำให้ไทยเป็นอันดับ 2 ประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก รองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 21.93 ล้านตัน ส่วนเวียดนาม อันดับ 3 ที่ 6.31 ล้านตัน

สำหรับปี 66 กรมได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และตั้งเป้าหมายส่งออกไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงแผนผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การจัดประชุม Thailand Rice Convention ของผู้คนในวงการค้าข้าว การจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐ และเอกชนเดินทางไปเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน เยอรมนี ฯลฯ

เศรษฐศาสตร์

“ปี 66 ต้องระวังค่าเงินบาทที่ยังผันผวน และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง แต่ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งเดินหน้าผลักดันการส่งออก โดยเน้นการรักษาตลาดเดิม และหาตลาดใหม่ให้มากขึ้น”

นายรณรงค์ กล่าวต่อถึง การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปี 65 ว่า ไทยส่งออกได้รวม 11.18 ล้านตัน มูลค่า 4,408 ล้านเหรียญฯ โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี เพราะทั่วโลก โดยเฉพาะจีน แย่งกันซื้อมันเส้น เพื่อนำไปทำแอลกอฮอล์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จึงผลักดันให้ราคาสูงขึ้น ส่วนปี 66 กรม และ 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง ได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 9 ล้านตัน ลดลงจากปี 64 เพราะคาดการณ์ว่าผลผลิตของไทยปี 65/66 จะลดลงจากโรคใบด่างที่ยังคงระบาดอย่างหนักในพื้นที่เพาะปลูกกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาพอากาศ ที่ช่วงปลายปีเกิดน้ำท่วม และอาจมีภัยแล้งซ้ำอีก ทำให้คาดว่าผลผลิตจะลดลง 3 .27 ล้านตัน เหลือ 31.7 ล้านตัน จากคาดการณ์เดิมที่ 34.98 ล้านตัน

แนะนำข่าวเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม : APEC 2022 คลังหารือ IMF มองเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ

APEC 2022 คลังหารือ IMF มองเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ

APEC 2022 คลังหารือ IMF มองเศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ

เศรษฐศาสตร์

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผลการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1. ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการหารือถึงภาพรวมในประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดย IMF มีความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อและสถานการณ์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยนาง Georgieva ได้ชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลังของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยที่เงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของสกุลเงินบาททำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัว

2. นาง Georgieva เห็นว่าความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยได้เสนอให้ประเทศไทยแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับปัญหาดังกล่าวแก่ประเทศอื่น และความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย IMF สนับสนุนการใช้กลไก Carbon Pricing โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งว่าการใช้กลไกทางการเงินการคลังเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นนโยบายที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการธนาคารต้นไม้ที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่สนับสนุนการปลูกต้นไม้ในชุมชน สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) โดยกระทรวงการคลังยินดีจะหารือในรายละเอียดกับ IMF ในเรื่องของแนวทางการใช้มาตรการการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่อไป

3. นอกจากนี้ นาง Georgieva ได้กล่าวสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) โดย IMF พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และอาเซียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน